TOP

ปักหมุด 9 สถานที่น่าเที่ยวแถวย่านถนนสุรวงศ์จรดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ขึ้นชื่อว่าเป็น “พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์” และเขตพื้นที่ธุรกิจทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ถนนสุรวงศ์สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเชื่อมต่อกับถนนสายแรกของกรุงเทพฯ นั่นคือ ถนนเจริญกรุง และยังบรรจบกับริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา ถนนสายนี้เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และงานร่วมสมัย รวมไปถึงร้านอาหารสุดเด็ดต้นตำรับ และนี้คือ 9 สถานที่น่าเที่ยวแถวย่านถนนสุรวงศ์จรดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สาย กิน เที่ยว ชมเมืองไม่ควรพลาด!

 

ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ – อนุสรณ์แห่งความรัก

ท่ามกลางย่านธุรกิจอันพลุกพล่านจอแจ ยังมีห้องสมุดอันโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคตั้งอยู่ ด้วยชื่อ “ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์” (The Neilsen Hays Library) ซึ่งเปิดทำการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 ห้องสมุดแห่งนี้เป็นดั่งอนุสรณ์แห่งความรัก โดยนายแพทย์โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ (Dr. Thomas Heywood Hays) หรือ หมอเฮส์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือและอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ได้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง เจนนี เนียลสัน (Jennie Neilson) ผู้เป็นภรรยาซึ่งรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ และอุทิศตนให้กับงานห้องสมุดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โครงสร้างอันสง่างามของห้องสมุดแห่งนี้ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบสถานที่สำคัญ ๆ อีกมากมายทั่วกรุงเทพฯ อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟหัวลำโพง สะพานมัฆวานรังสรรค์ และพระราชวังพญาไท โดยการก่อสร้างได้ใช้ซึ่งงานช่างฝีมืออันประณีตละเอียดอ่อนมากมาย เช่นเดียวกับที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำคัญ ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ผู้คนต่างพากันขนานนาม ห้องสมุดแห่งนี้ว่า “พระราชวังขนาดย่อ” โดยปัจจุบันห้องสมุดยังคงเปิดให้บริการ ด้วยการรวบรวมหนังสือไว้มากกว่า 20,000 เล่มสำหรับเหล่าผู้รักการอ่าน และยังมีพื้นที่ของแกลลอรีและคาเฟ่ สำหรับจัดกิจกรรมและงานพิเศษต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ที่สำคัญอาคารห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ยังได้รับรางวัลในฐานะ ‘สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์’ ปี พ.ศ. 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก – เรื่องราวกรุงเทพฯ จากชีวิตจริง

พิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (Bangkokian Museum or Bangkok Folk Museum) ในอดีตเป็นบ้านพักอาศัย ที่ รองศาตราจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของบ้านตั้งใจจัดบ้าน และทรัพย์สินมรดกที่ได้จากบุพการีเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา เรื่องราวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลาง ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2480-2500) รวมถึงความเป็นมาของเขตบางรัก พื้นที่ซึ่งผสานวัฒนธรรมหลายชนชาติ ทั้งไทย จีน ฝรั่ง และแขก โดยมีอาคารแสดง 4 หลังซึ่งเป็นอาคารที่ครอบครัวอาจารย์วราพรเคยใช้อาศัยอยู่จริง อาคารหลักสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวสีแดง ผนังอาคาร สร้างด้วยไม้ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐถือปูน ซึ่งยังรักษาเครื่องเรือน ของตกแต่งบ้านตามสมัยนิยม รวมถึงหนังสือของ คุณหมอฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย สามีคนแรกของคุณแม่อาจารย์วราพร ซึ่งจบการศึกษาทางด้านศัลยแพทย์จากอังกฤษ เป็นตำราทางการแพทย์เกี่ยวกับ การรักษาโรคต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ และยังมีอีกหลายสิ่ง ที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้า หรือเรียนรู้เรื่องราวของกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

 

ที่ทำการไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ – ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบของกรุงเทพฯ

ปี พ.ศ. 2428 ไทยได้เข้าร่วมสหภาพไปรษณีย์สากล โดยใช้อาคารสถานทูตอังกฤษเดิม บนถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าที่ทำการไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ กระทั่งปี พ.ศ. 2483 ได้มีการปรับปรุงอาคารแห่งนี้ครั้งใหญ่ นำโดยนายหมิว จิตรเสน อภัยวงศ์ และพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ภายใต้สถาปัตยกรรมสไตล์บรูทัลลิสต์ (brutalist) ที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต และโชว์พื้นผิวธรรมชาติดั้งเดิมของวัสดุ อาคารไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ จึงมีรูปทรงเหมือนกับกล่องขนาดยักษ์ ปกคลุมไปด้วยอิฐเปลือยที่ก่อโดยไม่มีการฉาบคอนกรีตบนพื้นผิว แม้แต่รูปแกะสลักครุฑก็ดูเคร่งขรึมแข็งแรง ปัจจุบันตัวอาคารใช้เป็นที่ตั้งของ ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม บนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ศูนย์แห่งนี้ได้มอบโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงซึ่งองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ด้วยการเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือ วารสาร สื่อสิ่งพิมพ์และมัลติมีเดียด้านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบกว่า 50,000 รายการ พร้อมทั้งยังนำเสนอพื้นที่สำหรับการค้นคว้าวิจัย การทำงาน การบริการด้านวัตถุดิบและการออกแบบ เช่นเดียวกับพื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรมซึ่งนำเสนอหัวข้อเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เป็นประจำ

 

ริเวอร์ ซิตี้ – ศูนย์กลางศิลปะและโบราณวัตถุริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ภาพในความทรงจำของเหล่านักเดินทางที่มาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน คงยังจำกันได้ กับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียงรายไปด้วยโรงแรมชั้นนำ กระทั่งปี พ.ศ. 2527 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ ได้เปิดทำการ และนับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วยอาคารกระจกสูง 4 ชั้น ซึ่งออกแบบโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ได้มอบเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นที่จดจำ และยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านการออกแบบในปี พ.ศ. 2527 แต่นอกจากความมหัศจรรย์อันงดงาม ของสถาปัตยกรรมแล้ว ริเวอร์ ซิตี้ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางของงานศิลปวัตถุโบราณ ด้วย 80 ร้าน ที่เป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะสะสมหายาก และของตกแต่งบ้านสไตล์วินเทจ จากทั้งจีน ไทย และยุโรป นอกจากนี้ยังมีห้องนิทรรศการ ซึ่งใช้จัดแสดงชั่วคราวของเหล่าผลงานศิลปะทันสมัย ที่หมุนเวียนมาจัดแสดงตลอดทั้งปี ขณะที่ทุกวันเสาร์แรกของเดือน ริเวอร์ ซิตี้ ยังได้จัดให้มีการประมูลงานศิลปะ และโบราณวัตถุหายากอันทรงคุณค่า จนกลายเป็นประเพณีที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะ และโบราณวัตถุของประเทศไทยและเอเชียอย่างแท้จริง

 

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี – เทวีประทานพร

หากเดินตรงไปตามถนนจากโรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ (Bangkok Marriott Hotel The Surawongse) สู่ถนนสีลม คือที่ตั้งของ วัดพระศรีอุมาเทวี (Sri Maha Mariamman Temple) หรือที่รู้จักกันว่า วัดแขก ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2422 โดยนายไวตี ประเดียอะจิ (Vaithi Padayatchi) ชาวฮินดูอพยพ โดดเด่นและแปลกตาด้วยประตูด้านหน้าของวัด ที่ตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตรด้วยสีสันฉูดฉาด พร้อมด้วยรูปสลักอันประณีตของเหล่าเทวรูปองค์เทพและเทวีต่าง ๆ โดยตามปฏิทินของชาวฮินดู ทุกปีจะมีเทศกาลนวราตรีจัดขึ้นที่นี่ในช่วงเดือนกันยายน / ตุลาคม เทศกาลนี้เชื่อกันว่า จะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายหรือโชคร้าย โดยจะจัดขึ้นนาน 10 วัน และในวันสุดท้าย บนถนนด้านหน้าของวัด จะตกแต่งไปด้วยสีสันของพวงมาลัยดอกไม้สีเหลืองและเทียน ขณะอัญเชิญองค์เทวรูปพระแม่อุมาเทวี ออกแห่ไปตามถนนนอกวัด พร้อมด้วยขบวนของผู้ศรัทธาที่เข้าร่วมและชมงานเป็นจำนวนมาก

 

บุกรุก – เมื่อศิลปะบุกเข้ามาใกล้ตัว

นอกจากสถาปัตยกรรมและแกลลอรีที่มีอยู่มากมายแล้ว บางรักยังเป็นบ้านแห่งศิลปะกราฟฟิตี้ อันเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและมีสีสันด้วย โดยล้วนเป็นผลงานสร้างสรรค์ขึ้น จากความร่วมมือกัน ระหว่างศิลปินชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมในเทศกาลศิลปะ บุกรุก (BUKRUK) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยไฮไลท์ของศิลปะบนกำแพงเหล่านี้ยังรวมไปถึง ภาพเป็ดลอยน้ำของศิลปิน Nychos จากรัสเซีย ณ บริเวณบริษัท อู่ กรุงเทพ จำกัด หรือรูปนางเงือกสีทองบนพื้นดำ บนผนังอาคารร้างใกล้กับแยกมเหสักข์ ซึ่งวาดโดยศิลปินชาวกรีก Fikos และใกล้กับปากซอยเจริญกรุง 28 ผู้คนที่เดินทางสัญจรผ่านไปมา ยังสะดุดตากับศิลปะบนกำแพง เป็นภาพนกสวมหมวก ผลงานของ Saddo ศิลปินชาวโรมาเนีย ส่วนฝั่งตรงข้ามของถนนยังมีอีกสองผลงานสร้างสรรค์ โดยชิ้นแรกเป็นภาพวาด คนนั่งอ่านหนังสือภายในห้อง โดย Daehyun Kim ศิลปินชาวเกาหลี และอีกชิ้นเป็นรูปนกขี่จักรยานล้อเดียว ผลงานของศิลปินไทย มือบอน (Mue Bon) ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมเดินเท้าหรือขี่จักรยาน ตามเก็บภาพกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตเหล่านี้ที่เรียงรายตามซอกมุมต่าง ๆ ของถนนอย่างเพลิดเพลิน

 

ต้นตำรับอาหารจากร้านริมทาง

ด้วยเพราะเป็นย่านการค้าเก่า บางรักจึงพลุกพล่านไปด้วยผู้คนและร้านอาหารข้างทางอันอุดมสมบูรณ์ ผู้มาเยือนและบรรดานักท่องเที่ยวจึงมักมีแผนที่ “ขุมทรัพย์” อยู่ในมือของพวกเขา กับการออกตามหาร้านอร่อย และมื้ออาหารต้นตำรับดั้งเดิมริมสองข้างทาง เช่น ประจักษ์เป็ดย่าง ที่สืบทอดต้นตำรับสู่ทายาทถึงสี่เจเนอเรชั่น โดยเสิร์ฟทั้งข้าวหน้าเป็ดและข้าวหมูแดงรสชาติเข้มข้น รวมไปถึงข้าวเฉโป อีกหนึ่งเมนูข้าว โปะด้วยเครื่องหลายอย่าง หรือ โจ๊กปรินซ์ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงหนังปรินซ์ (ตอนนี้ปิดไม่มีฉายหนังแล้ว) กับเอกลักษณ์ของเนื้อหมูนุ่มและโจ๊กเนื้อละมุน กรุ่นกลิ่นหอมของถ่าน อีกหนึ่งร้านห้ามพลาดคือ เจ๊ใหญ่ก๋วยเตี๋ยวหลอด กับสูตรต้นตำรับของจุ๋ยก๊วยโบราณใส่หัวไชโป๊ว ไข่ หมู เต้าหู้ และเห็ด ที่สืบทอดสูตรนี้มานานนับสี่ทศวรรษ และท้าให้ลองกับร้านทิพ หอยทอดภูเขาไฟ ส่วนอาหารหวานยอดนิยมของคนไทยมาอย่างยาวนาน ต้องยกให้กับขนมครกป้าแอ๋ว ที่กรอบนอกนุ่มในและไม่หวานเกินไป ความเป็นเอกลักษณ์ของต้นตำรับร้านอาหารริมทางของบางรัก จึงถ่ายทอดได้ดีถึงวิถีชีวิตของผู้คน ณ ย่านนี้

 

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ – ปลุกชีวิตย่านการค้าริมน้ำให้ฟื้นคืนอีกครั้ง

ศูนย์รวมแห่งการค้าและไลฟ์สไตล์ ณ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (Asiatique The Riverfront) ที่นับเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดบนริมฝั่งแม่น้ำของกรุงเทพฯ ด้วยพื้นที่ทั้งโครงการ 70 ไร่ ซึ่งพัฒนามาจากท่าเรือเก่าของบริษัท อีสต์เอเชียติก บริษัทเดินเรือสินค้าสัญชาติเดนมาร์ก ที่มาเปิดกิจการค้าไม้สักในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่าเรือแห่งนี้ได้ถูกยึดเป็นฐานกำลัง และคลังแสงของกองทัพญี่ปุ่น และหลังสงคราม พื้นที่นี้ได้ถูกทิ้งร้าง กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 โครงการ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ จึงได้ริเริ่มขึ้น ด้วยความพยายามที่จะธำรงรักษาไว้ ซึ่งเสน่ห์ของวิถีชีวิตริมน้ำและสถาปัตยกรรม รวมถึงมรดกดั้งเดิม สิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเลื่อยเก่า และซุ้มโกดังสินค้า จึงถูกปรับประยุกต์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าต่าง ๆ ได้อย่างกลมกลืน โดยหนึ่งในจุดดึงดูดใจหลัก ๆ ณ เอเชียทีคแห่งนี้ คือ ชิงช้าสวรรค์สูง 60 เมตร ที่สามารถมองเห็นวิวแม่น้ำอันน่าทึ่ง และโรงละคร 400 ที่นั่ง พร้อมด้วยการแสดงโชว์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น หุ่นละครเล็กโจหลุยส์

 

โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ – ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

ย้อนกลับมาสู่พื้นที่อันเป็นมรดกของถนนสุรวงศ์ และเป็นที่ตั้งของโรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ (Bangkok Marriott Hotel The Surawongse) โรงแรมหรูระดับสากล ด้วยความภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการปลุกฟื้นชุมชนสุรวงศ์ให้กลับมามีชีวิตชีวา ด้วยการบริการอันทันสมัยของทั้งห้องพัก สถานที่จัดเลี้ยง และประสบการณ์การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม จากร้านอาหารชั้นนำอันหลากหลาย ที่นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสูงสุดสำหรับการสังสรรค์

ด้วยอาคารสูง 32 ชั้น ซึ่งนับเป็นโรงแรม แมริออท แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่นำเสนอด้วยห้องพักจำนวนมากถึง 303 ห้อง กับงานออกแบบของโรงแรม ที่สะท้อนสไตล์อันทันสมัย และตกแต่งด้วยสีเอิร์ธโทน ให้ความสบายตาและผ่อนคลาย

โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ ยังนับเป็นสวรรค์แห่งใหม่ของเหล่านักชิม ด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่ม 3 แห่ง 3 สไตล์อันโดดเด่น ได้แก่ พระยาคิทเช่น (Praya Kitchen) ร้านอาหารสไตล์ออลเดย์ไดน์นิ่ง ที่เสิร์ฟบุฟเฟ่ต์อาหารไทยผสมผสานเข้ากับเมนูอาหารนานาชาติ ตามมาด้วยร้าน เย่า เรสเตอรองท์ แอนด์ รูฟท็อป บาร์ (Yào Restaurant & Rooftop Bar) บนชั้น 32 ร้านอาหารจีน และรูฟทอปบาร์ตกแต่งสไตล์จีนโมเดิร์น ในส่วนของร้านอาหาร เสริฟอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้ ที่ผ่านการปรุงอย่างพิถีพิถันโดย เชฟบรูซ ฮุย (Chef Bruce Hui) จากจีน พร้อมวิวกรุงเทพจากมุมสูง นอกจากนี้ยังสามารถเพลิดเพลินกับเครื่องดื่ม ที่รังสรรค์ขึ้นพิเศษทั้งก่อนและหลังมื้ออาหารได้ที่ เย่า รูฟท็อป บาร์ บนดาดฟ้าพร้อมดื่มด่ำไปกับวิวพาโนรามา ของแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่ผู้เข้าพักและแขกผู้มาเยือนจะสามารถเลือกผ่อนคลาย ไปกับหลากหลายซิกเนเจอร์ทรีตเมนต์ ของ ควอน สปา (Quan Spa) ส่วนนักออกกำลังกายยังสามารถเลือกออกกำลังกาย ณ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากต้องการพักผ่อนสบาย ๆ พร้อมกับจิบค็อกเทลสุดคลาสสิค ริมสระว่ายน้ำก็สามารถทำได้ ณ บริเวณพูลบาร์