TOP

กัญชง-กัญชา…มารู้จัก ‘กัญ’

ทันทีที่มีการอนุญาตให้นำบางส่วนของ “กัญชา” ไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด หลายวงการก็คึกคัก โดยเฉพาะแวดวงอาหารที่ดูจะสนุกกับการนำเสนอรายการอาหารใหม่ๆ ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ก่อนจะเพลิดเพลินไปกับอาหารผสมกัญชาที่มีให้เลือกมากมาย รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอางต่างๆ เรามาทำความรู้จักกัญชาให้มากขึ้นอีกนิดดีกว่า

 

กัญชง-กัญชา

เวลาเอ่ยถึงกัญชา ก็มักจะนึกถึง “กัญชง” คู่กันไป เพราะพืชทั้งสองชนิดนี้อาจมีความคล้ายกันอยู่พอสมควร กัญชา (marijuana) ต้นมีลักษณะเป็นพุ่ม สูงไม่เกิน 2 เมตร กิ่งก้านค่อนข้างมาก ใบสีเขียวเข้มมี 5-7 แฉก เรียงชิดกัน มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC: tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า สารที่ทำให้เมา ส่วน กัญชง (hemp) ต้นมีลักษณะสูงเรียว สูงได้มากกว่า 2 เมตร ใบสีเขียวอ่อนมี 7-11 แฉก เรียงสลับค่อนข้างห่าง มีสารแคนนาบิไดออล (CBD: cannabidiol) ช่วยรักษาโรคและบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท

 

กัญชง และ กัญชา เป็นพี่น้องกัน มีต้นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน คือ Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabidaceae ลักษณะภายนอกจึงคล้ายกัน แต่สรรพคุณหรือสารที่มีอยู่ในกัญชงและกัญชาแตกต่างกัน

▶️ THC มีมากในกัญชา เป็นสารที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ช่วยรักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดได้ ถ้าได้รับมากไปอาจทำให้ปากแห้ง ตาแห้ง หรือการตอบสนองช้าลง สารนี้มีอยู่ในกัญชาประมาณ 1-20% ขณะที่กัญชงมีสารนี้ไม่ถึง 1%

▶️ CBD มีมากในกัญชง มีสรรพคุณทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ช่วยรักษาโรค ลดอาการปวด ลดความวิตกกังวล ลดการอักเสบ ช่วยในการนอนหลับ แก้อาการโรคลมชัก ฯลฯ ไม่มีผลข้างเคียงแม้ใช้ปริมาณมาก ทั้งยังนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว กัญชงมีสารนี้ประมาณ 2% แต่กัญชามีสารชนิดนี้น้อยมาก

 

กัญชง…สำหรับทุกคน

กัญชง เป็นพืชที่มีเส้นใยคุณภาพดี ซึ่งดูจะเป็นจุดเด่นมากกว่าสารที่มี และผู้คนนิยมใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เป็นหลัก ผ้าทอจากเส้นใยกัญชงมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการมาก ใยกัญชงมีความละเอียดใกล้เคียงกับลินิน เส้นยาว เหนียว ทนทาน และเงางาม จึงมีการใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมานานแล้ว นิยมนำมาผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เยื่อกระดาษ และเชือกต่างๆ เส้นใยกัญชงแข็งแรงกว่าฝ้าย 2 เท่า และยังผลิตใยได้มากกว่าด้วย การปลูกกัญชง 10 ไร่ จะให้ผลผลิตเส้นใยเท่ากับฝ้าย 20-30 ไร่ ผลิตใยได้มากกว่านุ่น 200-250% นั่นหมายความว่า ถ้าใช้เส้นใยกัญชงแทน ปลูกกัญชงแทน ก็จะประหยัดน้ำได้มากกว่า

ไม่เฉพาะเสื้อผ้า ปัจจุบันมีการนำเส้นใยกัญชงไปผลิตเป็นกรอบแว่นตา และตัวเรือนนาฬิกาอีกด้วย สาร CBD และ THC ที่อยู่ในกัญชงนั้น ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เป็นเมล็ด เมล็ดกัญชงจึงเหมือนธัญพืชส่วนใหญ่ทั่วไป ที่มีโปรตีนสูง ใช้ทดแทนถั่วเหลืองได้ ทำ “นมกัญชง” ก็ได้ นอกจากนี้ น้ำมันในเมล็ดกัญชงยังมีโอเมก้า 3 เป็นน้ำมันคุณภาพ ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

สำหรับ สาร CBD นั้นจะสกัดจากก้าน ใบ และดอก มีสรรพคุณทางยา ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย รักษาโรค โดยนำมาผสมกับน้ำมันอื่นๆ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันเมล็ดกัญชงเอง เพื่อใช้น้ำมันเป็นพาหะทำให้ร่างกายนำสาร CBD มาใช้ได้ดีขึ้น และมักนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์กลุ่มรักษาสิว ในบรรดากัญชงมีแยกสายพันธุ์ย่อยออกไปอีก บางพันธุ์ก็แทบไม่มีสาร CBD อยู่เลย เช่น สายพันธุ์ที่ใช้เส้นใยเป็นหนึ่งในพันธุ์กัญชงคุณภาพดี แต่ไม่นิยมนำมาสกัดเพื่อเอาสาร CBD เพราะมีอยู่น้อยมากๆ กัญชงที่นิยมปลูกส่วนใหญ่จึงเพื่อใช้เส้นใยโดยเฉพาะ

 

จากการปลดล็อกกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษอย่างเป็นทางการ ส่วนต่างๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชงที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ในพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

กัญชา…ไม่ใช่ใครก็กินได้

ความจริงคนไทยนำใบกัญชามาปรุงอาหารมานานแล้ว โดยนิยมใส่ในแกงและก๋วยเตี๋ยว ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยชูรสให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น แต่ปริมาณการใส่กัญชาลงในอาหารเป็นเรื่องที่ควรศึกษา ซึ่งใบกัญชาแห้งสายพันธุ์ไทย มีปริมาณสาร THC เฉลี่ย 1-2 มิลลิกรัมต่อใบ ขณะที่ใบกัญชาสดไม่มีสาร THC ที่ทำให้เมา มีแต่สาร THCA หรือกรดเตตราไฮโดรแคนนาบิโนลิก (Tetrahydrocannabinolic Acid) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่เมื่อถูกแสงหรือความร้อน จะทำให้ THCA เปลี่ยนเป็น THC ได้ เพราะฉะนั้น การนำมาปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนก็ให้ผลไม่ต่างกัน

สำหรับกัญชาที่ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้ว และสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพได้ (มีข้อแม้ว่า ต้องนำมาจากต้นที่ปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น) ก็คือส่วนเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชาซึ่งมี THC ไม่เกิน 0.2% หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ช่อดอกและเมล็ดกัญชาเท่านั้น ที่ถือว่าเป็นยาเสพติด

 

เมื่อใบกัญชาเป็นอิสระเช่นนี้ รายการอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ก็เรียงรายออกมาทันที ไม่เพียงอาหารตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่ยังมีเครื่องปรุงรสขนมปัง ขนมหวาน เครื่องดื่ม ไปจนถึงไอศกรีม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะหน่วยงานนำร่องในด้านการพัฒนากัญชาและการใช้ประโยชน์ จึงได้สร้างสรรค์รายการอาหารจากกัญชาออกมาเผยแพร่ เพื่อให้อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย และแนะนำให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ เพราะถ้ามากกว่านั้น อาจเกิดอาการบางอย่างต่อร่างกาย

 

ผลข้างเคียงจากการกินอาหารที่มีกัญชามากไป เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัว โดยควรสังเกตอาการหลังจากกินไปแล้วประมาณ 30-60 นาที และอาการจะชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง

 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการลิ้มลองกัญชา 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยง อายุต่ำกว่า 25 ปี, หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร, ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง, ผู้มีภาวะตับและไตบกพร่อง, ผู้ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ซึ่งกัญชาเป็นสมุนไพรที่ช่วยปรับสมดุลของธาตุลม จึงสามารถช่วยเรื่องอาการท้องอืดท้องเฟ้อ รวมถึงอาการปวดต่างๆ นอนไม่หลับ ซึ่งใช้ได้ทั้งในรูปแบบการปรุงอาหารและผสมในผลิตภัณฑ์สปา เช่น สมุนไพรสำหรับแช่ ผงขัดและพอกผิว ลูกประคบ น้ำมันนวดตัว ฯลฯ

 

สารอีกชนิดจากกัญชงและกัญชา ที่มีผู้นำมาใช้คือ “เทอร์พีน” (Terpene) เป็นน้ำมันหอมระเหยที่พบได้ในพืช ซึ่งกลุ่มสารเทอร์ปีนในกัญชงและกัญชานั้น มีมากกว่า 100 ชนิด ให้กลิ่นและรสชาติที่โดดเด่นเหมือนพืชตระกูลส้ม เบอร์รี่ มินต์ แต่ละชนิดมีฤทธิ์แตกต่างกันไป เช่น ช่วยเสริมเรื่องการผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด ซึ่งเริ่มมีผลิตภัณฑ์ผสมเทอร์พีนออกมาให้เห็นประปราย ทั้งชา กาแฟ ซีอิ๊ว ซอสพริก ไปจนถึงน้ำจิ้มไก่ และน้ำจิ้มสุกี้ ก็คงต้องลองหามาชิมกันการรับประทานอาหารหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง จะมีผลต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดคงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ทั้งกัญชงและกัญชาก็เป็น “ลูกเล่น” ที่สร้างสีสันใหม่ๆ ได้ไม่น้อยเลย